อินเดียเบียดจีนขึ้นแท่นกลไกหลักขับเคลื่อนศก.เอเชียแปซิฟิกช่วง 3 ปีข้างหน้า

04 ธันวาคม 2566
อินเดียเบียดจีนขึ้นแท่นกลไกหลักขับเคลื่อนศก.เอเชียแปซิฟิกช่วง 3 ปีข้างหน้า

เอสแอนด์พี โกลบอล (S&P) คาดการณ์ว่า ขณะที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงนั้น แรงขับเคลื่อนหลักที่ผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะย้ายจากจีนไปยังเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจของอินเดียจะกลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยจะมีอัตราการขยายตัวแซงหน้าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค

ทั้งนี้ S&P คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดเดือนมี.ค. 2567 จะขยายตัวแตะ 6.4% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 6% โดยได้แรงหนุนจากการอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยชดเชยผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อจากราคาอาหารที่อยู่ในระดับสูงและกิจกรรมด้านการส่งออกที่ชะลอตัว

ขณะเดียวกัน S&P ระบุว่า ประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ก็มีแนวโน้มที่จะเห็นการขยายตัวของ GDP ในเชิงบวกทั้งในปีนี้และปีหน้า เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศแข็งแกร่ง

S&P ได้ปรับลดแนวโน้มการขยายตัวของตัวเลข GDP อินเดียในปีงบประมาณ 2568 ลงสู่ระดับ 6.5% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 6.9% แต่คาดว่า GDP จะพุ่งขึ้นแตะระดับ 7% ในปีงบประมาณ 2569

ส่วนประเทศจีนนั้น S&P คาดการณ์ว่า GDP จีนจะขยายตัว 5.4% ในปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.6% จากตัวเลขคาดการณ์เดิม และคาดว่า GDP ในปี 2567 จะขยายตัว 4.6% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.4%

“การที่จีนอนุมัติการออกพันธบัตรมูลค่า 1 ล้านล้านหยวนเมื่อไม่นานมานี้ และอนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นได้โควตาการออกพันธบัตรในปี 2567 ได้ส่วนหนึ่งนั้น เป็นปัจจัยประกอบการคาดการณ์ GDP ของเรา แต่คาดว่าวิกฤตการณ์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์จะยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน โดยอุปสงค์ด้านอสังหาริมทรัพย์อ่อนแอลงอย่างมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดหมุนเวียนและยอดขายที่ดินของบรรดาบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์” นางอูนิส ตัน หัวหน้าฝ่ายวิจัยเครดิตประจำเอเชียแปซิฟิกของ S&P กล่าว

แม้ S&P มีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก แต่วิกฤตพลังงานที่เป็นผลมาจากสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส รวมทั้งความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐจะทรุดตัวลงอย่างรุนแรงหรือฮาร์ดแลนดิ้ง (hard landing) ได้ทำให้ S&P ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมจีน) ในปี 2567 ลงสู่ระดับ 4.2% จากระดับ 4.4%

 


แหล่งที่มา : Infoquest

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.